04Jul

ในยุคที่เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากยิ่งขึ้น Digital Footprint จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกพิจารณาพนักงานเข้าทำงาน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกข้อมูลอื่น ๆ ของผู้สมัครได้ว่ามีความเหมาะสมและมีคุณสมบัติตรงตามที่องค์กรต้องการหรือไม่ 

ก่อนจะไปทำความเข้าใจความสำคัญที่มีต่อการทำงาน เราควรรู้จักก่อนว่าแท้จริงแล้วคืออะไร มีทั้งหมดกี่ประเภท และทำอย่างไรเราจึงจะปั้นให้ Footprint เหล่านี้ส่งผลดีต่อการทำงานของเรา

 

Digital Footprint คืออะไร

           แปลแบบตรงตัวคือ รอยเท้าหรือร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล หมายถึง ข้อมูลและการกระทำต่าง ๆ ของเราที่ปรากฎอยู่บนโลกออนไลน์ เช่น ข้อความที่โพสต์ รูปภาพที่แชร์ เว็บไซต์ที่เข้าใช้บ่อย เพจที่กดไลก์ โพสต์ที่กดเซฟ กระทู้ที่กดเข้าไปอ่าน เกมที่ชอบเล่น ฯลฯ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะใช้งานบนแพลทฟอร์มไหน บนเครื่องมืออะไร ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับการบันทึก และสามารถสืบค้นได้ภายหลังไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่ง HR หัวหน้า และผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการประเมินเพื่อคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่องค์กรได้

 

ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล มีกี่ประเภท

           แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. Active Digital Footprint คือ ข้อมูลหรือประวัติที่เราตั้งใจเปิดเผย หรือเป็นข้อมูลที่เราตั้งใจพิมพ์ลงไปบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น ข้อความต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย การอัพโหลดรูปภาพ การเขียน blog การส่งอีเมล การแชทกับเพื่อน การ search หาข้อมูล ธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น
  2. Passive Digital Footprint คือ ข้อมูลหรือประวัติที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเผย เป็นข้อมูลที่ไม่มีเจตนาจะบันทึก หรือเกิดจากความไม่ตั้งใจต่าง ๆ แต่ข้อมูลส่วนนี้ได้รับการบันทึกและจัดเก็บแบบออนไลน์ไว้ เช่น IP address ประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ ประวัติการใช้งาน สถิติการใช้เว็บ การเปิดระบบ GPS เป็นต้น

           ทั้งนี้ ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัลของเราจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตนั่นเอง หากมีการเล่นโซเชียลบ่อย ใช้งานเว็บไซต์หลากหลาย มีการค้นหา Google รวมไปถึงเช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัลของเราก็จะยิ่งเยอะตามไปด้วยนั่นเอง

 

การรับสมัครพนักงาน ต้องตรวจสอบร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัลหรือไม่

           อย่างที่กล่าวไปว่า ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล คือรอยเท้าที่ปรากฎบนโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การคัดเลือกคนเข้าทำงาน HR และเจ้าของกิจการจึงควรตรวจสอบร่องรอยเหล่านี้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่องรอยที่อยู่ในสื่อโซเชียล เพราะข้อมูลที่ได้เหล่านี้จะเป็นส่วนช่วยในการพิจารณาว่าผู้สมัครงานเหมาะสมกับตำแหน่ง และเข้ากับองค์กรได้มากน้อยเพียงใด

           จากข้อมูลของ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ในบทความ รอยเท้าดิจิทัล : ฝ่ายบุคคลเตือน ตัวตนและความคิดเห็นในโลกออนไลน์มีผลต่อการสมัครงาน กล่าวว่า กว่า 41.19% ขององค์กรที่สำรวจ เริ่มมีการใช้ข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดียในการประกอบการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงานมากขึ้น โดยเน้นตรวจสอบไปที่สื่อโซเชียลหลักอย่าง Facebook Instagram และ Twitter เนื่องจากสื่อเหล่านี้สามารถเก็บข้อมูลบุคคลได้ทั้งหมด อาทิ ผู้สมัครมีทัศนคติและความคิดเห็นต่อเรื่องราวหรือข่าวสารต่าง ๆ อย่างไร มีความเป็นมืออาชีพหรือไม่ มีทักษะการสื่อสารดีระดับไหน มีประวัติเชื่อมโยงกับคดีอาชญากรรมหรือไม่ มีบุคลิกอย่างไร มีการเหยียดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา โพสต์ภาพดื่มสุรา หรือมีพฤติกรรมรุนแรงใด ๆ หรือไม่ มีการนินทาบริษัทหรือเปิดเผยความลับบริษัทเดิมไหม เป็นต้น ทำให้ฝ่ายบุคคลวิเคราะห์ผู้สมัครงานง่ายขึ้น และได้ผลมากกว่าการนั่งสัมภาษณ์และการทดสอบความสามารถแบบเดิม ๆ 

 

การตรวจสอบร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่

           การตรวจสอบร่องรอยในโลกออนไลน์ ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลฯ อธิบายไว้ในบทความ รอยเท้าดิจิทัล : ฝ่ายบุคคลเตือน ตัวตนและความคิดเห็นในโลกออนไลน์มีผลต่อการสมัครงาน ว่า เหตุที่ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเป็นการดูข้อมูลเฉพาะที่มีการตั้งค่าเป็นสาธารณะเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไม่สามารถเข้าไปดูได้ เนื่องจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคลนั่นเอง

 

เทคนิคการปั้น Digital Footprint 

           ร่องรอยที่เราทิ้งไว้บนโลกออนไลน์เหล่านี้ เราก็สามารถปั้นให้เป็นร่องรอยที่เราต้องการได้ด้วยเทคนิคเหล่านี้

  1. รู้จักตนเอง

           ก่อนจะปั้นร่องรอยของเราให้เป็นไปดั่งใจ เราต้องรู้ก่อนว่าเราได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตบ้าง ซึ่งเราสามารถสืบค้นได้ด้วยตัวเองจาก Active Digital Footprint ที่เราอัพข้อมูลไป ไม่ว่าจะเป็นรูปโปรไฟล์ทั้งหมดในทุกสื่อโซเชียลของเรา ความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เคยโพสต์ไว้ ข่าวที่เคยแชร์ กลุ่มเปิดที่เคยสมัครไว้ วิดีโอต่าง ๆ ที่เคยอัพ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองเบื้องต้นก่อนว่าเคยคิด เคยพูด และเคยแสดงพฤติกรรมใดไว้บ้าง และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอะไร

 

  1. ลองค้นชื่อของตัวเองใน Search Engine ต่าง ๆ

           การใส่ชื่อตัวเอง รวมไปถึง เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และนามแฝงที่สามารถระบุมาถึงตัวเราได้ใน Search Engine ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ Facebook เองก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็น เพราะเราสามารถเข้าถึงทุกข้อมูลที่เกี่ยวกับเราได้ง่ายและไวที่สุด (บางครั้งเราอาจเจอข้อมูลที่เราเองก็ลืมไปแล้วด้วยซ้ำ) เมื่อค้นเจอข้อมูลของเราแล้ว หากเป็นข้อมูลที่เราไม่ต้องการ ไม่เหมาะสม และคิดว่าอาจส่งผลเสียในอนาคตให้ทำการลบออกทันที หรือหากไม่อยากลบควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ เพราะหากเราหาเจอได้ง่าย ๆ จากการค้นใน Search Engine ฝ่าย HR ก็สามารถค้นเจอข้อมูลนี้ได้เช่นกัน

 

  1. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเสมอ

           ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ต่าง ๆ สื่อโซเชียล รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เราควรตั้งค่าไว้เลยว่าจะแชร์ข้อมูลส่วนนี้ให้ใครเข้าถึงได้บ้าง โดยข้อมูลที่มีความเป็นส่วนตัวมากควรตั้งให้เฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะทราบ ในกรณีที่เป็นแอปพลิเคชั่น ให้เลือก “Ask App Not to Track” ทุกครั้งจะเป็นการดี เพื่อป้องกันไม่ให้แอปเข้าถึงข้อมูลของเรามากเกินไป การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวนี้นอกจากจะส่งผลดีต่อการสมัครงานแล้ว ยังส่งผลดีต่อความปลอดภัยในชีวิตของเราในด้านอื่น ๆ อีกด้วย

 

  1. ปิดบัญชีต่าง ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว

           การปิดบัญชีหรือ account ที่เราไม่ใช้แล้วตามเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงอีเมลที่เราเลิกใช้ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นอกจากจะช่วยลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไปได้แล้ว ยังป้องกันไม่ให้เกิดกรณีบัญชีถูกแฮกแล้วนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีหรือผิดกฎหมายได้อีกด้วย

 

  1. เตือนตัวเองเสมอว่าควรอัปอะไรบ้าง

           อย่าลืมว่าทุกสิ่งที่อัปสู่โลกออนไลน์จะมีการบันทึกไว้เสมอ ดังนั้น ก่อนการกดอัปข้อมูลหรือเรื่องราวใด ๆ ต้องคิดให้ดีว่าควรอัปหรือไม่ ไม่ควรใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นที่ระบายอารมณ์ เพราะข้อความเหล่านั้นอาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองในภายหลังได้ หรือหากต้องการพื้นที่ระบายจริง ๆ จะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้อ่านคนเดียว เมื่ออารมณ์เย็นลงค่อยกลับมาลบออกภายหลังก็สามารถทำได้

 

  1. สร้างตัวตนที่ดูน่าเชื่อถือ

           เมื่อเราสะสางข้อมูลที่ไม่ต้องการออกไปหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างตัวตนที่น่าเชื่อถือ หรือเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่อยากสมัคร ข้อพึงระวังคือในขั้นตอนนี้ไม่ใช่การพยายามเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราหรือทำสิ่งที่ไม่ชอบ แต่เป็นการแสดงตัวตนที่ดูเป็นมืออาชีพ มีทักษะ มีความรู้ มีความสนใจ และเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เราต้องการ เพื่อให้ฝ่าย HR เห็นว่าเราเป็นหนึ่งในผู้สมัครที่เหมาะสมนั่นเอง เช่น แชร์บทความความรู้ต่าง ๆ แชร์ข่าวที่เราสนใจ อัพภาพหนังสือที่ชอบอ่าน เป็นต้น

 

  1. สร้างแพลทฟอร์มอื่นที่ดูเป็นมืออาชีพ

           หากเราไม่ต้องการให้ Facebook หรือสื่อโซเชียลของเราดูจริงจังมากเกินไป และต้องคอยระวังทุกอย่างที่ต้องโพสต์ เราสามารถสร้างแพลทฟอร์มที่ดูเป็นมืออาชีพเพื่อให้ฝ่าย HR เข้าไปพิจารณาข้อมูลและคุณสมบัติการทำงานของเราได้ เช่น LinkedIn หรือเว็บหางานอื่น ๆ เมื่อเราสร้างแพลทฟอร์มแยกกัน HR ที่เข้ามาเก็บข้อมูล Digital Footprint ก็จะพิจารณาคุณสมบัติและตัวตนของเราได้ง่ายและชัดเจนขึ้น

 

  1. เปลี่ยนจากชื่อเล่นเป็นชื่อจริง

           สำหรับข้อมูลที่เราต้องการนำเสนอเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของเราให้ดูดีและน่าเชื่อถือขึ้น ควรใช้ชื่อ-นามสกุลจริง ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในการตั้งโปรไฟล์ เพื่อเวลาที่มีคนมาค้นหาจากชื่อ-นามสกุลของเรา ข้อมูลเหล่านั้นจะได้ปรากฎขึ้นมาทันที

 

  1. ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวเยอะเกินความจำเป็น

           ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันใด ๆ การใส่ข้อมูลส่วนตัวเยอะเกินไปจะทำให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ มีข้อมูลของเราเยอะเกินความจำเป็น ดังนั้น แนะนำให้ใส่เฉพาะข้อมูลจำเป็น หรือในช่องที่กำหนดไว้ว่าควรใส่ก็เพียงพอ

 

 จะเห็นได้ว่า ร่องรอยเหล่านี้ส่งผลต่อการรับสมัครงานไม่มากก็น้อย หากเราใช้ความระมัดระวังในการใช้สื่อออนไลน์ จัดการร่องรอยทางดิจิทัลของเราอย่างชาญฉลาด ให้เป็นไปในทางบวก ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ สร้างความเป็นมืออาชีพ และสร้างความประทับใจ โอกาสได้งานที่เราต้องการก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย  

CR: https://th.jobsdb.com/